ใครที่กำลังคิดว่า‘วิกฤต’ ทำให้เหล่าสรรพสัตว์ ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมกลับมามีชีวิตสดใสอีกครั้ง… อาจจะต้องคิดใหม่
STF (Scenario Thailand Foundation) อยากชวนทุกคนมาดู ‘ผลกระทบ’ ในมุมมองที่ต่างออกไป วิกฤตการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสที่เกิดขึ้นตอนนี้ มันช่วยให้โลกเราดีขึ้น จริงหรือ?
จากการประชุมสหประชาชาติ ว่าด้วยการค้า และการพัฒนา หรือ อังค์ถัด (UNCTAD)
โรเบิร์ต แฮมวีย์ ได้เขียนถึงประเด็นนี้ในบทความชื่อ “ผลกระทบของวิกฤตไวรัสโคโรนาต่อสิ่งแวดล้อม ความท้าทายรออยู่ข้างหน้า” ไว้ว่า ตอนที่จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เพิ่มขึ้นแบบทวีคูณในยุโรป และอเมริกาเหนือ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทางการต้องออกมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเข้มงวด เพื่อสกัดการแพร่ระบาดที่กำลังรุนแรง รวมถึงมาตรการให้ประชาชนอยู่บ้าน เริ่มที่อิตาลีเป็นที่แรก จากนั้นประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลก ก็ทำแบบเดียวกัน เมื่อประชากรอยู่บ้าน กิจกรรมต่างๆ ทางสังคม และเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นกิจการโรงงาน การสัญจร และการบิน ลดลง 60-95%
ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และสังคม เมื่อระดับการผลิต การบริโภค และการจ้างงานทั่วโลกดิ่งลงอย่างหนัก แต่ก็ทำให้การปล่อยมลพิษทางอากาศ และก๊าซเรือนกระจกลดลงอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน ทำให้คุณภาพอากาศในเมืองสำคัญของโลกดีขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งแฮมวีย์ก็ได้กล่าวต่อว่า เราไม่สามารถสรุปว่าสภาพแวดล้อมจะดีขึ้นแบบนี้ต่อไปไม่ได้ เพราะเมื่อแก้ไขวิกฤตได้แล้ว กิจกรรมต่างๆ ทางเศรษฐกิจก็จะกลับมาเหมือนเดิม รวมถึงการปล่อยก๊าซก็จะเพิ่มขึ้นมาเหมือนเดิมด้วย
เรามาพิจารณาทีละประการไปด้วยกัน
เมื่อกิจกรรมทางเศรฐกิจ และสังคมต้องหยุดชะงักลง แน่นอนว่า ปริมาณขยะที่ควรจะได้รับการรีไซเคิลจากการปฏิบัติงานของโรงงานต่างๆ ก็ย่อมลดลง เพราะโรงงานที่ได้รับผลกระทบ ต้องหยุดการทำงาน การส่งออกสินค้าทางการเกษตร และประมงลดลง ทำให้เกิดขยะอินทรีย์ (การเน่าเสียของสิ่งมีชีวิต) ตามมา
เมื่อทุกคนอยู่บ้าน กักตัว ชีวิตการทำงานต้องถูกพักลง งานด้านการบำรุงรักษา และตรวจสอบระบบนิเวศในธรรมชาติก็ต้องหยุดลงชั่วคราว กิจกรรมท่องเที่ยวในพื้นที่ธรรมชาติหยุดลง ขยะในท้องถิ่นเกิดขึ้นเนื่องจากหลายหน่วยงานหยุดกิจกรรม เพราะเกรงว่าจะทำให้เชื้อไวรัสแพร่กระจาย
ร้านค้าปลีก ร้านอาหาร และธุรกิจอีกหลายประเภทปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ หันมาทำธุรกิจออนไลน์ และจัดส่งอาหาร สิ่งของต่างๆ ผ่านระบบเดลิเวอร์รี โดยการเปลี่ยนมาใช้พลาสติก เพื่อป้องกันการใช้ซ้ำ ที่อาจทำให้เกิดการปนเปื้อนของเชื้อ และแพร่ระบาด ทำให้เกิดขยะพลาสติกที่ใช้แล้วทิ้งมากขึ้น
ขยะย่อยสลายยากที่ผู้คนทิ้งตามที่ต่างๆ ถูกเปลี่ยนจากภาชนะพลาสติก แก้วน้ำ ถุงขนม มาเป็น ถุงมือ หน้ากากอนามัย หรืออุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนแบบอื่นๆ ที่ใช้แล้วทิ้งแทน ซึ่งพวกอุปกรณ์เหล่านี้ ใช้วิธีการปล่อยให้ย่อยสลายไปเองตามธรรมชาติ ซึ่งจะส่งผลให้ก๊าซมีเทนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมาก และยืดเยื้อไปถึงหลังวิกฤตอีกยาวนาน
เมื่อผู้คนต้องกักตัว และไม่สามารถใช้ชีวิตได้แบบปกติอีกต่อไป สัตว์ป่าน้อยใหญ่ และสิ่งมีชีวิตต่างๆ ในระบบนิเวศตามธรรมชาติ ก็ย่อมได้รับผลกระทบไปด้วยเช่นเดียวกัน…
เจ้าหน้าที่ต้องหยุดการทำงาน สิ่งมีชีวิตที่อยู่ในความรับผิดชอบ พื้นที่ที่ควรได้รับการทะนุถนอมกลายเป็นถูกทิ้งไว้โดยปราศจากคนดูแล หรือมีคนดูแลไม่มากเพียงพอ (จากการสลับเวร)
เกิดการแอบลักลอบตัดไม้ทำลายป่า แอบทำประมง แอบล่าสัตว์ และแอบทำสิ่งผิดกฎหมายในพื้นที่ที่ไม่มีการดูแลอย่างเข้มงวดเช่นเดิม ได้ง่ายขึ้น
กิจกรรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในพื้นที่สำคัญต่างๆ หายไป ยิ่งส่งผลให้เกิดการลักลอบ บุกรุก ทำลายธรรมชาติได้ง่ายขึ้น สิ่งที่นักอนุรักษ์ได้ทุ่มเทดูแลมาตลอด ต้องตกอยู่ในอันตราย ลองคิดเล่นๆ ว่า คุณเห็นสัตว์ป่าออกมาใช้ชีวิตอย่างรื่นเริง ไม่มีมนุษย์รบกวน ผ่านสื่อต่างๆ แล้วเบื้องหลังช่วงเวลานั้นที่เราไม่ได้เห็นล่ะ สัตว์เหล่านั้นได้ใช้ชีวิตอย่างปลอดภัยในพื้นที่ของพวกมันจริงหรือไม่ เมื่อไม่มีคนคอยปกป้อง
มนุษย์พากันกักตัวป้องกันตนเอง แต่การใช้ทรัพยากรธรรมชาติยังคงเดินหน้าต่อไป หลายกลุ่มไม่ได้ออกมาช่วยเหลือสิ่งแวดล้อมอย่างที่เคยทำ และปัญหาสิ่งแวดล้อมเดิมก็ยังคงอยู่
วิกฤต อาจไม่ได้ส่งผลดีต่อธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมอย่างที่เราคิด และผลกระทบหลังจากสิ้นสุดวิกฤต ก็อาจแย่กว่าที่เราคาดไว้ก็ได้
ดูแลตัวเอง – จัดการขยะอย่างเหมาะสม – ไม่เพิ่มปัญหาให้สิ่งแวดล้อม
ฟื้นฟูธรรมชาติ เป็นหน้าที่ของเราทุกคน ซึ่งทุกอย่างต้องเริ่มต้นจากตัวเรา
Scenario Thailand Foundation เราพร้อมสนับสนุนทุกคนที่อยากเปลี่ยนแปลง เพื่อรับมือกับอนาคตที่ไม่แน่นอน